วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2550

"เพลงพื้นบ้าน"

เพลงพื้นบ้าน

เมื่อคนธรรมดาทั่งๆไปอย่างเราๆแต่งกลอน เขียนกลอนมากๆเข้า ก็นำมาร้อยเรียงเป็นบทเพลงต่างๆ ในระดับแรกก็คือ เพลงพื้นบ้าน นี้เอง

เพลงพื้นบ้าน
ความหมายของเพลงพื้นบ้าน คือ บทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นต่าง ๆ คิดได้รูปแบบการร้อง การเล่นขึ้นมา จนกลายเป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนอง แต่ว่าภาษาที่ใช้เองก็ยังเรียบง่ายอยู่ดี แต่ว่าบทเพลงพื้นบ้านมุ่งเอาความสนุกสนานรื่นเริงเป็นหลัก และจะนิยมเล่นกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ลอยกระทงไหว้พระประจำปี หรือแม้กระทั่งในโอกาสที่ได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจเพื่อทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฯลฯ
ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน ส่วนมากจะเป็นการเกี้ยวพาราสี หรือการซักถามโต้ตอบกัน ความเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่ความไพเราะ คารมหรือถ้อยคำง่าย ๆ แต่มีความหมาย กินใจ และยังใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องที่ต้องโต้ตอบกัน เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะมีเนื้อร้อง และทำนองง่าย ๆ ร้องเล่นได้ไม่ยาก ฟังไม่นานก็สามารถร้องเล่นตามได้ การเล่นเพลงชาวบ้าน จะเล่นกัน ตามลานบ้าน ลานวัด ท้องนา ตามลำน้ำ แล้วแต่โอกาสในการเล่นเพลง เครื่องดนตรี ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ กลอง หรือเครื่องดนตรี ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบางทีก็ไม่มีเลยใช้การปรบมือประกอบจังหวะสิ่งสำคัญในการร้องเพลงชาวบ้านอีกอย่างก็คือ ลูกคู่ร้องรับ ร้องกระทุ้ง หรือร้องสอดเพลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เราอาจแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้านตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้
๑ เพลงพื้นบ้านในภาคเหนือ เช่น เพลงค่าว เป็นบทขับร้องที่มีทำนองสูงต่ำมากกว่าภาคอื่นๆ เพลงซอเป็นการขับร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน จ๊อยหรือการขับลำนำในโอกาสต่าง ๆ และทำฮ่ำหรือคำฮ่ำ ซึ่งเป็นการขับร้องหมู่ เป็นต้น
๒ เพลงพื้นบ้านในภาคอีสาน เช่น หมอลำ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นลำกลอนคือการลำโดยทั่วไป ลำโจทก์ – แก้ เป็นการลำถาม – ตอบ โต้ตอบกันในเรื่องต่าง ๆ ลำหมู่ เป็นการลำ เล่านิทาน เรื่องราว โดยมีผู้แสดงประกอบ ลำเต้ย เป็นการลำที่มีจังหวะช้า และลำเพลิน เป็นการลำแบบใหม่มีสาว ๆ ร่ายรำประกอบ นอกจากนี้ยังมีเพลงโคราช ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ เพลงฉ่อยของภาคกลาง เพลงลากไม้เป็นการร้องประกอบการทำงาน เพลงเซิ้ง เช่น เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งผีตาโขน เซิ้งนางแมว เป็นต้น
๓ เพลงพื้นบ้านในภาคกลาง ในภาคกลางมีเพลงพื้นบ้าน มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักใช้ร้องในโอกาสต่าง ๆ เช่น ร้องเพื่อความบันเทิง ได้แก่ เพลงเรือ เพลงอีแซว ลำตัด เพลงฉ่อย ร้องประกอบการทำงาน ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว ฯลฯ
๔ เพลงพื้นบ้านในภาคใต้ เช่น เพลงเรือ ซึ่งเป็นเพลงเล่นทางน้ำเหมือนกับ เพลงเรือของภาคกลาง แต่ทำนองที่ร้องและการแต่งเนื้อเพลงต่างกัน นอกจากนี้ยังมีเพลงบอก ซึ่งเป็นเพลงที่เล่นได้ทั้งร้องคนเดียวและร้องโต้ตอบ เพลงนา ใช้ร้องเล่นเกี้ยวพาราสีกัน ในงานเทศกาลต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: